หอเขียน
ตั้งอยู่บนสนามหญ้าทางทิศใต้สุดของวังสวนผักกาด
หอเขียนหลังนี้ ถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอก
ของพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด ชั้นนอก
เป็นภาพสลัก ส่วนชั้นในนั้นลวดลายและช่องหน้าต่างเป็นศิลปะยุโรปซึ่งเป็นการบันทึก
ความสวยงามของธรรมชาติไว้ได้อย่างมีชีวิตชีวาทำให้หอเขียนลายรดน้ำหลังนี้มีคุณค่ายิ่ง
เรือนหลังนี้เดิมอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สันนิษฐานว่า เป็นตำหนักของเจ้านาย สร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่
๒๒ ภายหลังได้รื้อไปปลูกไว้ที่ วัดบ้านกลิ้ง อยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ระหว่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
กับ อำเภอบางปะอิน เดิมมีอยู่ด้วยกัน ๒
หลัง คือ หอไตร
เป็นห้องมีระเบียงรอบ
และหอเขียน เป็นศาลาไม้มีฝา ๓ ด้าน
ทุกฝามีภาพลายรดน้ำประกอบเต็มทุกฝา
ต่อมาเนื่องจากอาคารทรุดโทรมลงมาก
ชาวบ้านจึงได้รื้อ แล้วรวมเอาไม้ปลูกขึ้นใหม่เป็นหลังเดียว แต่เนื่องจาก
ภาพลายรดน้ำได้จางไปมากแล้ว
การประกอบจึงไม่ได้เรียงตามลำดับเนื้อเรื่อง
เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๐๒ เสด็จในกรมฯ และชายา "คุณท่าน"
ได้ทรงทราบว่าที่วัดเล็กๆ ซึ่งเกือบจะร้างอยู่แล้วแห่ง
นี้มีเรือนโบราณเก่าแก่อยู่หลังหนึ่งที่ชำรุดทรุดโทรมมาก
ไม่มีผู้ใดบูรณะรักษาเลย แต่มีสิ่งสวยงาม พระองค์ท่านจึงทำผาติกรรม
ไถ่ถอนย้าย
มาไว้ที่วังสวนผักกาด และได้ทรงสร้างศาลาสวดมนต์และศาลาท่าน้ำถวายวัดบ้านกลิ้งเป็นการทดแทน
พร้อมกับได้จ่ายเงินในการซ่อมแซมตัวอาคารและภาพลายรดน้ำไปเป็นจำนวนมาก
เสด็จในกรมฯ ทรงประทานหอเขียนเป็นของขวัญแก่ "คุณท่าน" เมื่ออายุครบ
๕๐ ปี ในวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ และได้เชิญชาวบ้านกลิ้งมาทั้งหมดประมาณ
๑๐๐ คน
เพื่อให้มาชมหอเขียนที่ปลูกสร้างใหม่นี้
ขณะนั้นภาพแกะสลักชั้นนอกชำรุดลบเลือนไป
เนื่องจากถูกแดด ลม
และฝนมาเป็นเวลานาน ส่วนชั้นในยังคงดีอยู่
ลวดลาย และช่องหน้าต่าง เป็นศิลปะจากยุโรป ภาพลายรดน้ำส่วนบน เป็นเรื่องพุทธประวัติ
และส่วนล่าง เป็นเรื่องรามเกียรติ์ที่บันทึกไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เนื่องจากบางภาพชำรุดจนไม่อาจจะเห็นได้ว่าเป็นภาพอะไร คงมีแต่เส้นรอยของภาพเขียนเดิมที่
ปิดทองไว้เป็นเส้นนูนขึ้นมาเท่านั้น
การซ่อมต้องปิดทองทับลงไปบนพื้นไม้ และเส้นนูนเหล่านั้นก็
จะเด่นขึ้นมา
จนอาจจะรู้ว่าเป็นภาพอะไรได้ แต่บางครั้งก็ไม่ทราบ จนกว่าจะลากหมึกดำลงตาม
เส้นเหล่านี้เสียก่อน
การปลูกสร้างหอเขียนใหม่ขึ้นที่วังสวนผักกาด เสด็จในกรมฯ และ "คุณท่าน" ปรารถนาที่จะปลูกตามแบบเดิมประจวบกับเวลานั้น การซ่อมภาพเขียนยังมิได้แล้วเสร็จหมดทุกแผ่น
และจะต้องปลูกสร้างให้เสร็จทัน งานฉลองอายุครบ ๕๐ ปีของ "คุณท่าน"
จึงได้ทำการปลูกโดย
กะขนาดความกว้างยาวของฝาไม้เป็นเกณฑ์
ให้ได้รูปเป็นหอแบบเดิมภาพเหล่านั้น จึงมิได้เรียงลำดับตามเรื่องพุทธประวัติ
อย่างไรก็ดี การที่ภาพต่างๆ อยู่สลับกันนี้ก็มิได้ทำให้ความสำคัญ และความสวยงามของภาพต้องลดน้อยลงไปเลย