100  ปี   แห่งวันประสูติ  เสด็จในกรมฯ
พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต
โดย  คุณกิตติพงษ์   วิโรจน์ธรรมากูร

 

 

 

 

 

     เนื่องในวโรกาสครบรอบ 100 ปี แห่งวันประสูติ  พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต องค์เจ้าของวังสวนผักกาด ซึ่งจะบรรจบครบรอบในปีพุทธศักราช 2547 นี้  บรรดาหน่วยงานต่างๆ ก็ได้พร้อมใจกันจัดงานเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์ ในฐานะที่ได้ทรงประกอบคุณูปการต่อบ้านเมือง โดยเฉพาะในแวดวงการสาธารณสุขและกิจการสภากาชาดไทย ตลอดจนทรงเป็นนักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าของชาติสืบมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะหมู่ตำหนักไทยและหอเขียนยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาภายในพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด รวมถึงสวนอุทยานวังตะไคร้ ที่จังหวัดนครนายกด้วย  ในวาระโอกาสนี้ขอร่วมเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ ด้วยการนำเสนอพระประวัติและพระกรณียกิจบางประการมา ณ โอกาสนี้


     

พระประวัติ

            พลตรี  พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าชายจุมภฏพงษ์บริพัตร” เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ในจอมพลเรือ จอมพล สมเด็จฯ  เจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (องค์ต้นราชสกุล “บริพัตร”) และหม่อมเจ้าประสงค์สม  บริพัตร (พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย  องค์ต้นราชสกุล “ไชยันต์”) เป็นพระมารดา ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2477  มีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระชนนีรวมทั้งสิ้น 8 พระองค์ โดยเรียงตามลำดับพระชันษาดังนี้

1.      พระเจ้าวรวงศ์เธอ    กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต

2.                 ”                  พระองค์เจ้าหญิงศิริรัตนบุษบง

3.                ”                   พระองค์เจ้าหญิสุทธวงษ์วิจิตร

4.                 ”                   พระองค์เจ้าหญิงพิสิษฐ์สบสมัย

5.                 ”                   พระองค์เจ้าหญิงจุไรรัตนศิริมาน

6.                 ”                   พระองค์เจ้าหญิงจันทรกานตมณี

7.                 ”                   พระองค์เจ้าหญิง(สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังไม่มีพระนาม)

8.                 ”                   พระองค์เจ้าชายปิยชาติสุขุมพันธุ์ (สิ้นพระชนม์ตอนพระชันษาได้  2   ขวบ) 

 นอกจากนี้ยังมีพระขนิษฐาและพระอนุชาที่ประสูติจากหม่อมสมพันธ์ (ปาลกะวงศ์  บริพัตร ณ อยุธยา) อีก 2 พระองค์ คือ

1.      พระวรวงศ์เธอ   พระองค์เจ้าหญิงอินทุรัตนา

2.      พระวรวงศ์เธอ   พระองค์เจ้าชายสุขุมาภินันท์

ในช่วงพระเยาว์ขณะมีพระชันษาได้ 10 ป ีได้ทรงเข้าพิธีโสกันต์ในพระบรมมหาราชวัง ตามโบราณราชประเพณีของเจ้านาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีขึ้นเป็นกรณีพิเศษ หลังจากนั้นในระหว่างปี พ.ศ. 2454-2461 ได้ทรงเริ่มเรียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษชั้นต้นที่วังบางขุนพรหมอันเป็นที่ประทับของเหล่าราชสกุล “บริพัตร” หรือที่พวกฝรั่งสมัยนั้นให้ฉายาว่า “บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้” และได้ทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์จนจบหลักสูตร ต่อมาในปีพ.ศ. 2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับนักเรียนไทยกว่า 30 คน ที่ตกค้างในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 นักเรียนไทยกลุ่มนี้ก็ได้เรียนสำเร็จกลับมารับใช้ประเทศชาติในตำแหน่งหน้าที่สำคัญๆ

            ในระหว่างปี พ.ศ. 2464-2468 ได้ศึกษาต่อชั้นไฮสคูลที่โรงเรียนแฮโรจนจบหลักสูตร หลังจากนั้นได้ทรงสอบเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาปรัชญา รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ในสำนักไครสต์เชิร์ชแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

            ในปลายปีพ.ศ. 2468 พระองค์ได้เสด็จกลับมาเยี่ยมครอบครัวที่เมืองไทย ในโอกาสนี้ทรงได้รับพระราชทานพระยศร้อยตรีนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในระหว่างนี้ได้ทรงรู้จักสนิทชิดชอบกับสุภาพสตรีสาวสวยท่านหนึ่ง เป็นธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรทัย มีนามว่า ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์  เทวกุล หรือที่ชาววังสวนผักกาดเอ่ยนามว่า “คุณท่าน” ซึ่งเคยรับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งพระกำนัลรุ่นแรกในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 พระบิดาจึงได้ทรงสู่ขอตามประเพณี และได้จัดพิธีหมั้นในปีพ.ศ.2472 ในปีเดียวกันนี้เองพระองค์ทรงเรียนจบปริญญาตรี ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งในสาขาเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด นับเป็นคนไทยพระองค์แรกที่ทรงได้รับปริญญานี้ ในระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ทรงได้รับการยกย่องจากบรรดานักปราชญ์  อาจารย์ และนักศึกษาร่วมชั้นเรียนในฐานะที่ทรงพระปรีชาสามารถและทรงรอบรู้ในวิทยาการต่างๆ อย่างดียิ่ง หลังจากนั้นพระองค์ได้เสด็จเดินทางกลับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีเสกสมรสพระราชทาน เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน  พระราชวังดุสิต และได้ทรงพระกรุณาให้พระองค์พร้อมด้วยชายาประทับที่วังสวนกุหลาบตั้งแต่นั้นมา ทรงมีพระธิดา 1 พระองค์คือหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์   ปัจจุบันทรงมีพระชันษา 73 ปี

ทรงรับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

            ภายหลังทรงสำเร็จการศึกษา ได้ทรงเข้ารับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเมื่อปี พ.ศ.2473 ในตำแหน่งเลขาณุการเสนาบดี  โดยมีพระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)เป็นเสนาบดีในขณะนั้น และได้รับพระราชทานพระยศเป็นรองอำมาตย์เอก ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 ทรงได้รับตำแหน่งเป็นเลขาณุการกระทรวงพระคลังฯ และได้เลื่อนพระยศเป็นอำมาตย์ตรีพร้อมกับได้เลื่อนพระยศทหารเป็นร้อยโทนายพิเศษในสังกัดเดิม พระองค์ได้ทรงรับราชการในกระทรวงพระคลังฯ ตราบจนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศในปีพ.ศ. 2475 จึงได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 เพื่อตามเสด็จพระบิดาและครอบครัวไปประทับยังเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากทรงถูกมรสุมทางการเมืองรุมเร้าจนบ้านแตกสาแหรกขาด (ให้ดูหนังสือ “ชีวิตในวังบางขุนพรหม” โดย กิตติพงษ์  วิโรจน์ธรรมากูร)

            พระยาโกมารมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร) อดีตเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้กล่าวถึงความประทับใจในพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ในช่วงระหว่างทรงงานที่กระทรวงพระคลังฯ ไว้ตอนหนึ่งว่า

            “ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต  กับข้าพเจ้าเริ่มขึ้นที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธุ์ในปีพ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสแก่ข้าพเจ้าที่พระราชวังไกลกังวลว่า พระองค์จุมภฏฯ ทรงศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลังมา ถ้าได้รับราชการในกระทรวงพระคลังฯจะดีมาก ว่าตามความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าแล้ว พระองค์จุมภฏฯ น่าจะรับราชการในกระทรวงที่มีเจ้านายทรงเป็นเสนาบดีจะเหมาะกว่า ซึ่งในขณะนั้นมีถึง 6 กระทรวง  คือ  กระทรวงมหาดไทย(จอมพลเรือ จอมพล สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต)  กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม(พลเอก กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน)   กระทรวงกลาโหม (พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช)   กระทรวงทหารเรือ (พลเรือเอก กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร)   กระทรวงการต่างประเทศ (พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรทัย)  และกระทรวงธรรมการ (พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรณ์)  ที่ข้าพเจ้าเห็นเช่นนั้นเพราะข้าพเจ้ารู้สึกว่าโดยพระราชบัญญัติสืบราชสันตติวงศ์ พระองค์จุมภฏฯ เป็นพระองค์เจ้าที่ทรงฐานันดรศักดิ์สูงมาก ส่วนข้าพเจ้าเป็นเพียงสามัญชน ถ้าจะแสร้งยกย่องก็ยกย่องได้อย่างมากเพียงว่าเป็นเชื้อสายของขุนนางสกุลเก่าเท่านั้นเอง แต่เมื่อปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงรังเกียจในข้อนี้  ทั้งเป็นพระประสงค์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ (พระบิดาของพระองค์-ผู้เขียน) และความสมัครของพระองค์จุมภฏฯ เองด้วย จึงเป็นอันว่าข้าพเจ้ารับพระองค์จุมภฏฯ เข้ามาเป็นข้าราชการในกระทรวงพระคลังฯ ตามพระบรมราชประสงค์ ด้วยความปีติในพระมหากรุณาธิคุณ...”

            นอกจากนี้ พระยาโกมากุลมนตรียังได้กล่าวชื่นชมในพระปรีชาสามารถและความขยันขันแข็งในการทรงงาน ตลอดจนทรงวางพระองค์แบบไม่ถือเจ้าถือนายไว้อย่างน่าประทับใจในตอนหนึ่งว่า

            “การปฏิบัติงานของพระองค์จุมภฏฯ นั้น ท่านทิ้งความเป็นเจ้านายอย่างสิ้นเชิง เช่น เข้ามาเสนอหนังสือ ท่านยืนข้างโต๊ะจนกว่าจะได้รับอนุญาตให้ประทับเก้าอี้ เมื่อต้องรับคำบอกในการร่างจดหมายหรือบันทึก ข้าพเจ้าให้ประทับเก้าอี้หน้าโต๊ะของข้าพเจ้า พอเสร็จท่านลุกขึ้นทันที นำร่างนั้นไปพิมพ์ใส่สมุดเซ็นแล้วนำออกไปส่งเจ้าหน้าที่จัดการต่อไปเป็นต้น ในการประชุมทรงจดการปรึกษาแล้วแต่งรายงานการประชุมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เก็บข้อความสำคัญๆ ได้ครบถ้วนไม่ขาดตกบกพร่อง เมื่อถึงคราวงานชุกมาก เช่น การจัดทำงบประมาณแผ่นดิน และเมื่อคราวประเทศอังกฤษ ออกจากมาตราทองคำอย่างกะทันหัน เป็นต้น ข้าพเจ้าต้องทำงานอยู่ที่กระทรวงจนสองยามเจ็ดทุ่ม พระองค์จุมภฏฯ ก็อยู่ด้วยเสมอ แม้เมื่อหลังการเสกสมรสใหม่ๆ ข้าพเจ้าได้อนุญาตให้เสด็จกลับวังได้ (เวลานั้นประทับที่วังสวนผักกาด-ผู้เขียน) ก็ไม่ยอมกลับก่อนข้าพเจ้า...”

            ในปี พ.ศ. 2476 ภายหลังทรงลาออกจากราชการได้เสด็จไปศึกษาเพิ่มเติมที่ประเทศอังกฤษทรงสำเร็จปริญญาโท(M.A.) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด  และทรงสอบได้เนติบัณฑิตของอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2480 นับได้ว่าพระองค์ทรงใฝ่ศึกษาหาความรู้ในวิทยาการต่างๆ อย่างไม่รู้จบในตลอดพระชนม์ชีพ

ทรงงานที่สภากาชาดไทย

             กิจการสภากาชาดไทยนั้นได้ถือกำเนิดขึ้นมาในรัชกาลที่ 5 เมื่อแรกทรงพระราชทานนามว่า “สภาอุณาโลมแดง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือทหารหาญที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบกับฝรั่งเศสในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ต่อมาในรัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “สภากาชาดสยาม” ครั้นถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สภากาชาดไทย” อันสภากาชาดไทยนั้นได้รับการวางรากฐานอย่างดีและอยู่ในพระอุปถัมภ์ของบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระราชโอรส-ธิดา ในรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะในสายราชสกุล “บริพัตร” คือ จอมพลเรือ จอมพล สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ผู้ทรงริเริ่มบริจาคเงินสร้างตึกสุทธาทิพยรัตน์ตามพระนามของพระองค์ ซึ่งถือเป็นสิ่งปลูกสร้างหลังแรกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ใช้เป็นหอพักนักศึกษา และอาคารสำนักงานของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

            ต่อมาในปี พ.ศ.2491 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิตทรงดำรงตำแหน่งอุปนายก ผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติ โดยทรงสานต่อจากพระบิดา  ตำแหน่งอุปนายกฯ เป็ฯตำแหน่งที่ต้องเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อสาธารณชน ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ไว้อย่างดียิ่งตลอดระยะเวลา 12 ปี ที่ทรงงานสภากาชาดไทย พระภาระกิจที่พระองค์ทรงทำนั้นนอกจากงานประจำวันซึ่งมีอยู่มากมายแล้ว ยังมีงานอื่นๆ ที่ทรงสนพระทัยมากเป็นพิเศษนั่นคือ ทรงช่วยบรรเทาทุกข์ราษฎรในเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน อาทิ ภัยน้ำท่วม  ไฟไหม้  โรคระบาด ความอดอยาก และภัยสงคราม เป็นต้น  ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น  พระองค์ก็จะต้องเสด็จมาถึงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในทันที หรือ ถ้ามีเหตุการณ์รุนแรงก็จะประทับแรมที่นั่นจนต้องอดตาหลับขับตานอนเป็นเนืองนิตย์ หรือในเวลาที่หน่วยบรรเทาทุกข์ออกไปบริการแก่ราษฎรตามจังหวัดต่างๆ พระองค์ก็มักเสด็จตามไปด้วย ต้องทรงฝ่าฟันภยันอันตรายในการเดินทางมากมายเพียงใด ก็มิได้ทรงนึกถึงส่วนพระองค์แม้แต่น้อย หากแต่ทรงบัญชาการเองเกือบทุกครั้งที่เสด็จฯ ทั้งนี้ก็เพื่อทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรนั่นเอง

            นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2494  เมื่อครั้งที่สภากาชาดไทยส่งหน่วยพยาบาลไปกับกองทหารไทยที่ไปช่วยรบในประเทศเกาหลี พระองค์ได้เสด็จเดินทางไปเยี่ยมทหารไทยที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบทั้งที่เกาหลีและญี่ปุ่น  รุ่งขึ้นปีถัดมาได้เสด็จไปประชุมสากลกาชาดครั้งที่ 18 ณ ประเทศแคนาดา ต่อมาในปีพ.ศ. 2500 ได้เสด็จไปประชุมสากลกาชาดครั้งที่ 19 ณ ประเทศอินเดีย การเสด็จทั้ง 2 ครั้งนี้ ทรงไปในฐานะตัวแทนสภากาชาดไทย อุปสรรคยิ่งใหญ่ประการหนึ่งของสภากาชาดไทยในสมัยที่พระองค์ทรงดูแลอยู่นั้นก็คือการขาดแคลนทุนทรัพย์ พระองค์ก็ได้ทรงสละทุนทรัพย์มากมายเพื่อการนี้ รวมทั้งทรงติดต่อหาทุนในต่างประเทศจนสำเร็จลุล่วงด้วยดี นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2497 พระองค์และพระชนนีรวมถึงพระขนิษฐาและพระอนุชาได้พร้อมพระทัยกันสร้างตึก “บริพัตร” เพื่อใช้เป็นสำนักงานกลางถาวรของสภากาชาดไทยขึ้นภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธาน ทรงเปิดตึกนี้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2497 นอกจากนี้ ยังได้ทรงประทานทุนทรัพย์เจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อใช้ตามตึกพยาบาลทั่วไปภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

            ตลอดระยะเวลา 12 ปี ในตำแน่งองค์อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทย กิจการได้พัฒนาก้าวไกลไปมากทั้งในเรื่องการรักษาพยาบาล งานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ประชาชน การเพิ่มพูนองค์ความรู้และทักษะแก่เจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาล ตลอดจนการติดต่อและขอความร่วมมือกับองค์การสภากาชาดนานาประเทศ และที่สำคัญก็คือทางรัฐบาลได้ให้ความอุปการะแก่สภากาชาดไทยมากยิ่งขึ้นกว่าสมัยก่อน ในส่วนที่เป็นคุณประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่สภากาชาดไทยโดยตรง ซึ่งเกิดจากพระดำริของพระองค์ก็คือ เจ้าหน้าที่ของสภากาชาดไทยทุกท่านจะได้รับเงินบำเหน็ดและบำนาญ (แต่เดิมจะได้รับเพียงบำเหน็ด)

            ผลงานชิ้นสำคัญของพระองค์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติของสภากาชาดไทยก็คือ การอพยพญวนออกไปจากเมืองไทย ญวนกลุ่มนี้ได้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยมีประมาณ 50,000 คน เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินในแถบภาคอีสาน และเพื่อรักษาความสงบสุขของบ้านเมือง ทางรัฐบาลไทยจึงคิดที่จะย้ายพวกญวนออกไปจากเมืองไทย แต่โดยที่รัฐบาลไทยกับรัฐบาลเวียดนามเหนือไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน ทางสภากาชาดของทั้งสองประเทศจึงต้องเป็นฝ่ายติดต่อเอง พระองค์ก็ได้ทรงดำเนินการในเรื่องนี้อย่างแข็งขันเพื่อที่จะผลักดันพวกญวนออกไปจากไทย และในที่สุดการเจรจาตกลงก็สำเร็จดังพระประสงค์เป็นที่พอพระหฤทัย

            หลังจากที่สมเด็จฯ  กรมพระยาไชยาทนเรนทรได้สิ้นพระชนม์  พระองค์ก็ทรงอยู่ในฐานะเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ และทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ทำหน้าที่ผู้นำพระราชวงศ์ฝ่ายหน้าในพระราชพิธีต่างๆ และทรงประกอบพระกรณียกิจแทนพระองค์อยู่เป็นเนืองนิตย์

            ต่อมาในปีพ.ศ. 2495 ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นเจ้านายต่างกรม ทรงเฉลิมพระยศเป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต” เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์ที่ได้ทรงรับราชการฉลองพระเดชพระคุณในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมาตลอดถึง 12 ปี ต่อมาในปีพ.ศ. 2500 ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยศจาก “พันเอก” เป็น “พลตรี” นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และโดยที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ในการบรรเทาทุกข์ด้วยความอาจหาญและพระวิริยะอุตสาหะอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนทรงมีพระอุปการคุณต่อกิจการสภากาชาดไทยเป็นยิ่งนัก คณะกรรมการสภากาชาดไทยจึงได้มีมติถวายเหรียญกาชาดสรรเสริญและเหรียญกาชาดสมนาคุณขั้น 1 แด่พระองค์ในปีเดียวกันด้วย

            นอกเหนือจากพระกรณียกิจดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ พระองค์ยังทรงได้รับการยกย่องจากบุคคลในวงการต่างๆ ให้เป็นนักอนุรักษ์มรดกไทยที่ดีเด่น ด้วยทรงสนพระทัยในศิลปโบราณวัตถุต่างๆ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งงานจิตรกรรม  ปฏิมากรรม และข้าวของเครื่องใช้ในราชสกุลบริพัตร เป็นต้น โดยทรงสะสมสานต่อจากพระบิดารวมทั้งทรงหาซื้อเพิ่มเติมทีหลัง อาทิ หมู่ตำหนักไทย หอเขียนยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา เทวรูปต่างๆ  ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง   เครื่องดนตรีไทย  หัวโขน  และหุ่นละครต่างๆ  จากที่ได้ทรงสะสมศิลปวัตถุโบราณนี่เอง จึงได้มีพระดำริทรงจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาเรียกว่า “พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด”  เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาและแหล่งศึกษาและแหล่งรวมสมบัติอันล้ำค่าของชาติสืบไป วังสวนผักกาดแห่งนี้นับเป็นสถานที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย และได้รับคัดเลือกให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปีพ.ศ. 2537 โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ  ดิศกุล ได้ทรงกล่าวถึงพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดของเสด็จในกรมฯ ไว้ตอนหนึ่งว่า

            “ข้าพเจ้ายังจำได้ดีว่าขณะเมื่อข้าพเจ้ายังเป็นนักศึกษาวิชาโบราณคดีอยู่ในประเทศอังกฤษราว 16 ปีมาแล้ว  ครั้งหนึ่งกรมหมื่นนครสวรรค์ฯ และหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ ได้เสด็จและมายังประเทศอังกฤษ ข้าพเจ้าจึงได้ไปรับใช้และรับเลี้ยงท่านด้วย วันหนึ่งเสด็จในกรมฯ มีรับสั่งชวนข้าพเจ้าให้ไปช่วยเลือกซื้อพระพุทธรูปอินเดียในศิลปคันธารราฐ ณ ร้านสปิงส์(spinks) อันเป็นร้านค้าของเก่าที่มีชื่อเสียงที่สุดร้านหนึ่งในกรุงลอนดอน แต่ตรัสห้ามมิให้ชวนหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ไปด้วย  เพราะขณะนั้นหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ยังมิสู้สนใจในโบราณวัตถุนักเสด็จในกรมฯ ทรงเกรงว่าถ้าไปด้วยก็คงจะแนะให้ซื้อพระพุทธรูปคันธาราฐที่ไม่สู้ดีแต่ราคาถูกเป็นแน่ เราจึงไปกันเพียง 2 คน และข้าพเจ้าได้ทูลแนะให้เสด็จในกรมฯ ทรงซื้อพระพุทธรูปคันธารราฐที่ไม่สู้ดีแต่ราคาถูกเป็นแน่ เราจึงไปกันเพียง 2 คน และข้าพเจ้าได้ทูลแนะนำให้เสด็จในกรมฯ ทรงซื้อพระพุทธรูปคันธารราฐองค์งาน ซึ่งจำได้ว่าราคาขณะนั้นดูเหมือนจะประมาณ 100 ปอนด์ พระพุทธรูปองค์นี้ปัจจุบันก็ยังคงเป็นโบราณวัตถุชิ้นเอกในพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด  ต่อมาเสด็จในกรมฯ ได้โปรดให้รื้อตำหนักไทยของพระบิดาคือสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต มาปลูกไว้ที่วังสวนผักกาด และทรงเริ่มตกแต่งตำหนักเหล่านั้นด้วยโบราณวัตถุไทยที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯได้เคยทรงรวบรวมไว้แต่ก่อน รวมทั้งที่ทรงซื้อหามาเพิ่มเติมก็มีบ้าง.

            “เมื่อเสด็จในกรมฯ และม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ ได้จัดตำหนักเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น และได้ไปชมพิพิธภัณฑ์เนซุ(Nazu) เข้า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เดิมเป็นของนายเนซุผู้เป็นราชาแห่งการรถไฟของญี่ปุ่น เมื่อเจ้าของวายชนม์แล้วได้ทำพินัยกรรมยกพิพิธภัณฑ์แห่งนั้นให้แก่รัฐ และยังคงเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่สำคัญอยู่นอกกรุงโตเกียวเล็กน้อย มีผู้คนไปชมมากจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นเข้าก็นึกถึงตำหนักไทยของเสด็จในกรมฯ และม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ ทันที จึงได้กลับมากราบทูลว่าเมื่อท่านทั้งสองล่วงลับไปแล้วขอให้ประทานตำหนักไทยรวมทั้งโบราณวัตถุที่จัดแสดงแก่ชาติเถิด  ส่วนตัววังนั้นถ้าจะประทานใครก็ประทานไปขอประทานแต่ตำหนักไทย โบราณวัตถุ และพื้นที่ดินอันเป็นที่ตั้งตำหนักไทยเท่านั้น ข้าพเจ้าจังได้กราบทูลด้วยว่าต่อไปภายหน้าถ้าประทานตำหนักไทยนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแล้ว ก็น่าจะให้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์จุมภฏ-พันธุ์ทิพย์” เลียนแบบพิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย-อัลเบิต ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เสด็จในกรมฯ ทรงเห็นด้วยกับความคิดนี้ทันที ถึงกับรับสั่งว่าถ้าประทานจะประทานทั้งวังสวนผักกาด เพราะเหตุว่าขณะนั้นม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ได้ปรับปรุงสวนโดยรอบตำหนักไทยให้สวยงามยิ่งนัก ทรงเกรงว่าถ้าประทานเฉพาะตำหนักไทย บริเวณก็จะหายสวยไปหมด

            “ข้าพเจ้าเข้าใจว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ความคิดเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์จุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ได้เกิดขึ้นแก่เสด็จในกรมฯ และ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ก็ได้มีเมตตาต่อข้าพเจ้าอยู่เนืองๆ เช่นได้เคยประทานเงิน 10,000 บาท ให้แก่ห้องสมุดของคณะโบราณคดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น และได้ประทานอนุญาตให้นักศึกษาคณะโบราณคดีที่ยากจนเข้ามาอาศัยรับใช้อยู่ในวังสวนผักกาดถึง 3 คน ในปีพ.ศ. 2501 เสด็จในกรมฯ และม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ได้หอเขียนมาจากวัดบ้านกลิ้ง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ความจริงหอเขียนนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสนใจในโบราณวัตถุสถานของ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ เป็นอย่างดี เพราะม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ เป็นตัวตั้งตัวตีมาตั้งแต่ต้นโดยตลอด ลงท้ายเสด็จในกรมฯ ต้องเสียเงินเป็นอันมาในการบูรณะหอเขียนนี้

            “ข้าพเจ้ายังจำได้ดีถึงการที่ท่านทั้งสองตื่นเต้นในภาพเขียนใหม่ๆ ที่ค้นพบ ทั้งนี้เพราะแต่เดิมน้นภาพลายรดน้ำในหอเขียนลบเลือนไปเกือบหมดแล้ว ช่างต้องค่อยๆ เอาแป้งโรยจึงมองเห็นเป็นเส้นนูนขึ้นมา แล้วจึงซ่อมด้วยการเขียนด้วยรักและทองตามเส้นเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่ง หอเขียนนี้อาจสร้างขึ้นในปลายสมัยอยุธยา และปัจจุบันก็เป็นโบราณสถานอันล้ำค่าอีกแห่งหนึ่งในพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดและประเทศไทย จัดว่ามีอยู่เพียงหลังเดียวในปัจจุบันที่มีภาพลายรดน้ำอันสวยงามและภาพสลักที่น่าชมเช่นนี้ ข้าพเจ้าจำได้ว่าครั้งหนึ่งข้าพเจ้าได้นำศาสตราจารย์หญิงมีชื่อทางด้านโบราณคดี คือ ศาสตราจารย์ สเตลลา   กรามริช (Stella  Kramisch) มาชมพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด และเมื่อได้ชมเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าได้ถามเธอว่าท่านรู้สึกอย่างไรบ้าง ศาสตราจารย์ผู้นี้ได้กล่าวตอบว่าข้าพเจ้ารู้สึกตื่นเต้นทีเดียว( I am overwhelmed) น่าเสียดายที่ว่าในปีพ.ศ. 2502 กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ได้สิ้นพระชนม์ลง ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ จึงได้พยายามกระทำทุกอย่างสืบต่อลงมาจากที่เสด็จในกรมฯ ได้ทรงกระทำไว้...กล่าวโดยย่อพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดนี้เป็นสถานที่ที่น่าชมที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับทางด้านโบราณวัตถุและทิวทัศน์อันสวยงาม ปัจจุบันจะมีชาวต่างประเทศเข้ามาชมเป็นอยู่เนืองๆ”

            พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ได้ทรงรับราชการฉลองพระเดชพระคุณแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รวมระยะเวลาที่ทรงงานถึง 12 ปี ตราบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ ด้วยพระโรคพระหทัยวายเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2502 ณ วังสวนผักกาด สิริพระชันษาได้ 55 ปี

            


 

 

 

หน้าแรก | ประวัติ | เรือนไทย ๘ หลัง | พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง | ห้องศิลปนิทรรศมารศรี | หอเขียนลายรดน้ำ | เรือพระที่นั่งเก้ากึ่งพยาม
ข่าวประชาสัมพันธ์ | สมัครสมาชิก | แผนที่ | กระดานถาม-ตอบ | สมุดเยี่ยม | ส่งการ์ด | English Version

 

 

Copyright © 2001, All Right Reserved by Suan Pakkad Palace.